แนวทางการเขียนเรียงความ
เมื่อได้ศึกษาองค์ประกอบอันจะนำไปใช้ในการเขียนเรียงความแล้ว ก่อนที่จะลงมือเขียนเรียงความ ผู้เขียนต้องเลือกเรื่องและประเภทของเรื่องที่จะเขียน หลังจากนั้นจึงวางโครงเรื่องให้ชัดเจนเพื่อเรียบเรียงเนื้อหา ซึ่งการเรียบเรียงเนื้อหานี้ต้องอาศัยความสามารถในการเขียนย่อหน้า และการเชื่อมโยงย่อหน้าให้เป็นเนื้อหาเดียวกัน
๑. การเลือกเรื่อง ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของผู้เขียนที่ไม่สามารถเริ่มต้นเขียนได้ คือ ไม่ทราบจะเขียนเรื่องอะไร วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ หัดเขียนเรื่องใกล้ตัวของผู้เขียน หรือเรื่องที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ดี รวมทั้งเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้เป็นอย่างดี หรือเขียนเรื่องที่สนใจ เป็นเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ผู้เขียนอาจพิจารณาองค์ประกอบ ๔ ประการ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกเรื่องที่จะเขียน ดังต่อไปนี้ก็ได้ ๑.๑ กลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนควรเลือกเขียนเรื่องสำหรับกลุ่มผู้อ่านเฉพาะและควรเป็นกลุ่มผู้อ่านที่ผู้เขียนรู้จักดีทั้งในด้านการศึกษา ประสบการณ์ วัย ฐานะ ความสนใจและความเชื่อ ๑.๒ ลักษณะเฉพาะของเรื่อง เรื่องที่มีลักษณะพิเศษจะดึงดูดใจให้ผู้อ่านสนใจ ลักษณะพิเศษดังกล่าว ได้แก่ ความแปลกใหม่ ความถูกต้องแม่นยำ แสดงความมีรสชาติ ๑.๓ เวลา เรื่องที่จะเขียนหากเป็นเรื่องที่อยู่ในกาลสมัยหรือเป็นปัจจุบัน จะมีผู้สนใจอ่านมาก ส่วนเรื่องที่พ้นสมัยจะมีผู้อ่านน้อย นอกจากนี้การให้เวลาในการเขียนของผู้เขียนก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าผู้เขียนมีเวลามาก ก็จะมีเวลาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อการเขียนและการอ้างอิงได้มาก ถ้าผู้เขียนมีเวลาน้อย การเขียนด้วยเวลาเร่งรัด ก็อาจทำให้เนื้อหาขาดความสมบูรณ์ ด้านการอ้างอิง ๑.๔ โอกาส การเขียนเรื่องประเภทใดขึ้นอยู่กับโอกาสด้วย เช่น ในโอกาสเทศกาลและวันสำคัญของทางราชการและทางศาสนา ก็เลือกเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับโอกาสหรือเทศกาลนั้น ๆ เป็นต้น
๒. ประเภทของเรื่องที่จะเขียน การแบ่งประเภทของเรื่องที่จะเขียนนั้นพิจารณาจากจุดมุ่งหมายในการเขียน ซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ ๒.๑ เรื่องที่เขียนเพื่อความรู้ เป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์รวมทั้งหลักการตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ ใช้วิธีเขียนบอกเล่าหรือบรรยายรายละเอียด ๒.๒ เรื่องที่เขียนเพื่อความเข้าใจ เป็นการอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจความรู้ หลักการ หรือประสบการณ์ต่าง ๆ การเขียนเพื่อความเข้าใจมักควบคู่ไปกับการเขียนเพื่อให้เกิดความรู้ ๒.๓ การเขียนเพื่อโน้มน้าวใจ เป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเชื่อถือและยอมรับ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสทางใจให้สนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับข้อเขียนนั้น ๆ
๓. การวางโครงเรื่องก่อนเขียน การเขียนเรียงความเป็นการเสนอความคิดต่อผู้อ่าน ผู้เขียนจึงต้องรวบรวมเลือกสรรและจัดระเบียบความคิด แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นโครงเรื่อง การรวบรวมความคิด อาจจะรวบรวม ข้อมูลจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง นำส่วนที่เป็นประสบการณ์ตรงและประสบการณ์ทางอ้อม ซึ่งเกิดจากการฟัง การอ่าน การพูดคุย ซักถาม เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็นำข้อมูล มาจัดระเบียบความคิด โดยจัดเรียงลำดับตามเวลา เหตุการณ์ ความสำคัญและเหตุผล แล้วจึงเขียนเป็นโครงเรื่อง เพื่อเป็นแนวทางให้งานเขียนอยู่ในกรอบ ไม่ออกนอกเรื่อง และสามารถนำมาเขียนขยายความเป็นเนื้อเรื่องที่สมบูรณ์ เขียนชื่อเรื่องไว้กลางหน้ากระดาษ เลือกหัวข้อที่น่าสนใจที่สุดเป็นคำนำ และเลือกหัวข้อที่น่าประทับใจที่สุดเป็นสรุป นอกนั้น เป็นเนื้อเรื่อง ๓.๑ ชนิดของโครงเรื่อง การเขียนโครงเรื่องนิยมเขียน ๒ แบบ คือ โครงเรื่องแบบหัวข้อและโครงเรื่องแบบ ประโยค ๓.๑.๑ โครงเรื่องแบบหัวข้อ เขียนโดยใช้คำหรือวลีสั้น ๆ เพื่อเสนอประเด็นความคิด ๓.๑.๒ โครงเรื่องแบบประโยค เขียนเป็นประโยคที่สมบูรณ์ โครงเรื่องแบบนี้มีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่าโครงเรื่องแบบหัวข้อ ๓.๒ ระบบในการเขียนโครงเรื่อง การแบ่งหัวข้อในการวางโครงเรื่องอาจแบ่งเป็น ๒ ระบบ คือ ๓.๒.๑ ระบบตัวเลขและตัวอักษร เป็นระบบที่นิยมใช้กันทั่วไป โดยกำหนดตัวเลขหรือประเด็นหลัก และตัวอักษรสำหรับประเด็นรอง ดังนี้ ๑) ................................................................................................ ก. ........................................................................................ ข. ......................................................................................... ๒) ก. ........................................................................................ ข. ......................................................................................... ๓.๒.๒ ระบบตัวเลข เป็นการกำหนดตัวเลขหลักเดียวให้กับประเด็นหลักและตัวเลขสองหลัก และสามหลัก ให้กับประเด็นรอง ๆ ลงไป ดังนี้ ๑) ................................................................................................. ๑.๑ ...................................................................................... ๑.๒ ..................................................................................... ๒) ................................................................................................. ๒.๑ ..................................................................................... ๒.๒ .................................................................................... ๓.๓ หลักในการวางโครงเรื่อง หลักในการวางโครงเรื่องนั้นควรแยกประเด็นหลักและประเด็นย่อยจากกันให้ชัดเจน โดยประเด็นหลักทุกข้อควรมีความสำคัญเท่ากัน ส่วนประเด็นย่อยจะเป็นหัวข้อที่สนับสนุน ประเด็นหลัก ทั้งนี้ทุกประเด็นต้องต่อเนื่องและสอดคล้องกัน จึงจะเป็นโครงเรื่องที่ดี
ตัวอย่างโครงเรื่องแบบหัวข้อ เรื่องปัญหาการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย ๑) สาเหตุของการติดยาเสพติด ก. ตามเพื่อน ข. การหย่าร้างของบิดามารดา ค. พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ง. การบังคับขู่เข็ญ ๒) สภาพปัญหาของการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย ก. จำนวนผู้ติดยา ข. การก่ออาชญากรรม ค. การค้าประเวณี ๓) แนวทางการแก้ไขปัญหา ก. การสร้างภูมิต้านทานในครอบครัว ข. การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ค. กระบวนการบำบัดรักษาแบบผสมผสาน
ตัวอย่างโครงเรื่องแบบประโยค เรื่องปัญหาการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย ๑) สาเหตุของการติดยาเสพติด มีหลายสาเหตุทั้งสาเหตุที่เกิดจากตัวเองและจาก สิ่งแวดล้อม ก. เสพตามเพื่อน เพราะความอยากลอง คิดว่าลองครั้งเดียวคงไม่ติด ข. บิดา มารดา หย่าร้างกัน ลูกอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้รู้สึกหว้าเหว่ เหงา และเศร้าลึก ๆ ค. พ่อแม่ให้เวลากับการทำงานหาเงินและการเข้าสังคม ไม่มีเวลาให้ครอบครัว ง. ในโรงเรียนมีกลุ่มนักเรียนที่ทั้งเสพและค้ายาเสพติดเอง ใช้กำลังข่มขู่ บีบบังคับให้ซื้อยา ๒) สภาพปัญหาของการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย ก. จำนวนวัยรุ่นไทยที่ติดยาเสพติดในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข. ปัญหาที่ตามมาของการติดยาเสพติดคือการก่ออาชญากรรมทุกประเภท ค. ในหมู่วัยรุ่นหญิงที่ติดยาเสพติด มักตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีในที่สุด ๓) แนวทางการแก้ไขปัญหา ก. การให้ความรัก ความอบอุ่น และความเอื้ออาทร รวมทั้งการมีเวลาให้กับคน ในครอบครัว เป็นภูมิต้านทานปัญหายาเสพติดได้อย่างดี ข. การทำให้คนในชุมชนรักชุมชน ช่วยเหลือแก้ปัญหาในชุมชนจะเป็นเกราะ ป้องกันปัญหายาเสพติดได้อย่างดี เพราะเขาร่วมกันสอดส่องดูและป้องกัน ชุมชนของตนเองจากยาเสพติด ค. สังคมใดที่มีผู้คนสนใจใฝ่รู้ ใฝ่แสวงหาข้อมูลข่าวสาร ผู้คนจะมีความรู้เพียงพอ ที่จะพาตัวให้พ้นจากภัยคุกคามทุกรูปแบบด้วยปัญญาความรู้ที่มี ง. กระบวนการบำบัดผู้ติดยามิให้กลับมาติดใหม่ ทำได้ด้วยการให้การรักษาทางยา ควบคู่กับการบำบัดทางจิตใจ ด้วยการใช้การปฏิบัติทางธรรม ซึ่งจะเป็นภูมิ ต้านทานทางใจที่ถาวร
๔. การเขียนย่อหน้า การย่อหน้าเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้อ่าน อ่านเข้าใจง่ายและอ่านได้เร็ว มีช่องว่างให้ได้พักสายตา ผู้เขียนเรียงความได้ดีต้องรู้หลักในการเขียนย่อหน้า และนำย่อหน้า แต่ละย่อหน้ามาเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กัน ในย่อหน้าหนึ่ง ๆ ต้องมีสาระเพียง ประการเดียว ถ้าจะขึ้นสาระสำคัญใหม่ต้องขึ้นย่อหน้าใหม่ ดังนั้น การย่อหน้าจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสาระสำคัญที่ต้องการเขียนถึงในเนื้อเรื่อง แต่อย่างน้อยเรียงความต้องมี ๓ ย่อหน้า คือ ย่อหน้าที่เป็นคำนำเนื้อเรื่องและสรุป ๔.๑ ส่วนประกอบย่อหน้า ย่อหน้า ๑ ย่อหน้าประกอบด้วย ประโยคใจความสำคัญและประโยคขยายใจความสำคัญหลาย ๆ ประโยค มาเรียบเรียงต่อเนื่องกัน ๔.๒ ลักษณะของย่อหน้าที่ดี ย่อหน้าที่ดีควรมีลักษณะ ๓ ประการ คือ เอกภาพ สัมพันธภาพและสารัตถภาพ ๑) เอกภาพ คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีประโยคใจความสำคัญ ในย่อหน้าเพียงหนึ่ง ส่วนขยายหรือสนับสนุนต้องกล่าวถึงใจความสำคัญนั้น ไม่กล่าวนอกเรื่อง ๒) สัมพันธภาพ คือ การเรียบเรียงข้อความในย่อหน้าให้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน มีการลำดับความอย่างมีระเบียบ นอกจากนี้ยังควรมีความสัมพันธ์กับย่อหน้าที่มีมาก่อน หรือย่อหน้าที่ตามมาด้วย ๓) สารัตภาพ คือ การเน้นความสำคัญของย่อหน้าแต่ละย่อหน้าและของเรื่องทั้งหมด โดยใช้ประโยคสั้น ๆ สรุปกินความทั้งหมด อาจทำได้โดยการนำประโยคใจความสำคัญมาไว้ตอนต้น หรือตอนท้ายย่อหน้า หรือใช้สรุปประโยคหรือวลีที่มีลักษณะซ้ำ ๆ กัน
๕. การเชื่อมโยงย่อหน้า การเชื่อมโยงย่อหน้าทำให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างย่อหน้า เรียงความเรื่องหนึ่งย่อมประกอบด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้าการเรียงลำดับย่อหน้าตามความเหมาะสมจะทำให้ข้อความ เกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน วิธีการเชื่อมโยงย่อหน้าแต่ละย่อหน้าก็เช่นเดียวกับการจัดระเบียบความคิดในการวางโครงเรื่อง ซึ่งมีด้วยกัน ๔ วิธี คือ ๕.๑ การลำดับย่อหน้าตามเวลา อาจลำดับตามเวลาในปฏิทินหรือตามเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นก่อนไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง ๕.๒ การลำดับย่อหน้าตามสถานที่ เรียงลำดับข้อมูลตามสถานที่หรือตามความ เป็นจริงที่เกิดขึ้น ๕.๓ การลำดับย่อหน้าตามความสำคัญ เรียงลำดับตามความสำคัญมากที่สุด สำคัญรองลงมาไปถึงสำคัญน้อยที่สุด ๕.๔ การลำดับย่อหน้าตามเหตุผล อาจเรียงลำดับจากเหตุไปหาผล หรือผลไปเหตุ
๖. สำนวนภาษา ยึดหลักการใช้ภาษาดังนี้ ๖.๑ ใช้ภาษาให้ถูกหลักภาษา เช่น การใช้ลักษณะนาม ปากกาใช้ว่า “ด้าม” รถใช้ว่า “คัน” พระภิกษุใช้ว่า “รูป” เป็นต้น นอกจากนี้ไม่ควรใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ เช่น ขณะที่ข้าพเจ้าจับรถไฟไปเชียงใหม่ ควรใช้ว่า ขณะที่ข้าพเจ้าโดยสารรถไฟไปเชียงใหม่ บิดาของข้าพเจ้าถูกเชิญไปเป็นวิทยากร ควรใช้ บิดาของข้าพเจ้าได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร ๖.๒ ไม่ควรใช้ภาษาพูด เช่น ดีจัง เมื่อไหร่ ทาน ฯลฯ ควรใช้ภาษาเขียน ได้แก่ ดีมาก เมื่อไร รับประทาน ๖.๓ ไม่ควรใช้ภาษาแสลง เช่น พ่น ฝอย แจวอ้าว สุดเหวี่ยง ฯลฯ ๖.๔ ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ยากที่ไม่จำเป็น เช่น ปริเวทนาการ ฯลฯ ซึ่งมีคำที่ง่ายกว่าที่ควรใช้คือคำว่า วิตก หรือใช้คำที่ตนเองไม่ทราบความหมายที่แท้จริง เช่น บางคนใช้คำว่าใหญ่โตรโหฐาน คำว่า รโหฐานแปลว่า ที่ลับ ที่ถูกต้องใช้ ใหญ่โตมโหฬาร เป็นต้น ๖.๕ ใช้คำให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล เช่น คำสุภาพ คำราชาศัพท์ เป็นต้น ๖.๖ ผูกประโยคให้กระชับ “ถ้าเจ้าดินช้าเช่นนี้เมื่อไรจะไปถึงที่หมายสักที” หรือประโยคว่า “อันธรรมดาคนเราเกิดมาในโลกนี้ บ้างก็เป็นคนดี บ้างก็เป็นคนชั่ว” ควรใช้ว่า “คนเราย่อมมีทั้งดีและชั่ว” เป็นต้น
๗. การใช้หมายเลขกำกับ หัวข้อในเรียงความจะไม่ใช้หมายเลขกำกับ ถ้าจะกล่าวแยกเป็นข้อ ๆ จะใช้ว่า ประการที่ ๑ ......ประการที่ ๒ ...... หรือประเภทที่ ๑ ..... ประเภทที่ ๒ .....แต่จะไม่ใช้เป็น ๑ ..... ๒ ..... เรียงลำดับแบบการเขียนทั่วไป
๘. การแบ่งวรรคตอนและเครื่องหมายวรรคตอน เครื่องหมายวรรคตอน เช่น มหัพภาค (.) อัฒภาค (;) จุลภาค (,) นั้น ไทยเลียนแบบฝรั่งมาจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ถ้าใช้ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถ้าไม่ใช้ก็ใช้แบบไทยเดิม คือการเว้นวรรคตอน โดยเว้นเป็นวรรคใหญ่ วรรคน้อย ตามลักษณะประโยคที่ใช้
๙. สำนวนโวหาร สำนวนกับโวหารเป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันนำมาซ้อนกัน หมายถึง ชั้นเชิงในการเรียบเรียงถ้อยคำ ในการเขียนเรียงความสำนวนโวหารที่ใช้มี ๕ แบบ คือ ๙.๑ แบบบรรยาย หรือที่เรียกกันว่า บรรยายโวหารเป็นโวหารเชิงอธิบาย หรือเล่าเรื่องอย่างถี่ถ้วน โวหารแบบนี้เหมาะสำหรับเขียนเรื่องประเภทให้ความรู้ เช่น ประวัติ ตำนานบันทึกเหตุการณ์ ฯลฯ ตัวอย่างบรรยายโวหาร เช่น
“ขณะที่เราขับรถขึ้นเหนือไปนครวัด เราผ่านบ้านเรือนซึ่งประดับด้วยธงสีน้ำเงินและแดงไว้นอกบ้าน เราไปหยุดที่หน้าวัด ซึ่งประตูทางเข้าตกแต่งด้วยดอกไม้และเครือเถาไม้ ในเขต วัดสงฆ์ห่มจีวรสีส้มสนทนาปราศรัยกับผู้คนที่ไปนมัสการอยู่ในปะรำไม้ปลูกขึ้นเป็นพิเศษ ความประสงค์ที่เราไปหยุดที่วัดก็เพื่อก่อพระทรายอันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในวันขึ้นปีใหม่ตามศรัทธาของพุทธศาสนิกชน การก่อพระทรายเป็นพิธีบุญ อธิษฐานขอพรอย่างหนึ่ง งานเทศกาลนี้เป็นเวลาที่วัดทุก ๆ วัด จะต้องเก็บกวาดให้สะอาดที่สุด มีการสรงน้ำพระพุทธรูป เป็นประจำปีเพื่อขอให้ฝนตกโดยเร็ว” (จากสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา “วันปีใหม่ที่นครวัด” งานเทศกาลในเอเซีย เล่ม ๑ โครงการความร่วมมือทางด้านการพิมพ์ ชุดที่ ๒ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเซียของยูเนสโก
๙.๒ แบบพรรณนา หรือที่เรียกกันว่า พรรณนาโวหาร คือ โวหารที่กล่าว เป็น เรื่องราวอย่างละเอียดให้ผู้อ่านนึกเห็นเป็นภาพ โดยใช้ถ้อยคำที่ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ (มโนภาพ) ขึ้นโวหารแบบนี้สำหรับชมความงามของบ้านเมือง สถานที่ บุคคล เกียรติคุณ คุณความดีต่าง ๆ ตลอดจนพรรณนาอานุภาพของกษัตริย์และพรรณนาความรู้สึกต่าง ๆ เช่น รัก โกรธ แค้น ริษยา โศกเศร้า เป็นต้น ตัวอย่างพรรณนาโวหาร เช่น
“เมื่อถึงตอนน้ำตื้นพวกฝีพายต่างช่วยกันถ่อ ทางน้ำค่อยกว้างออกไปเป็นหนองน้ำใหญ่ แต่น้ำสงบนิ่ง น่าประหลาด ป่าร่นแนวไปจากริมหนอง ปล่อยให้ต้นหญ้าสีเขียวจำพวกอ้อคอยรับแสงสะท้อนสีน้ำเงินแก่จากท้องฟ้า ปุยเมฆสีม่วงลอยไปมาเหนือศีรษะ ทอดเงาลงมาใต้ใบบัวและดอกบัวสีเงิน เรือนเล็กหลังหนึ่ง สร้างไว้บนเสาสูง แลดูดำเมื่อมมาแต่ไกล ตัวเรือนมีต้นชะโอนสองต้น ซึ่งดูเหมือนจะขึ้นอยู่ในราวป่าเบื้องหลัง เอนตัวลงเหนือหลังคา ทั้งต้นและใบคล้ายจะเป็นสัญญาณว่า มีความเศร้าโศกสุดประมาณ” (จากทองสุข เกตุโรจน์ “ทะเลใน” แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง “The Lagoon” ของ Joseph Conrad การเขียนแบบสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ๒๕๑๙)
๙.๓ แบบอุปมา หรือที่เรียกว่าอุปมาโวหาร คือ โวหารที่ยกเอาข้อความ มาเปรียบเทียบเพื่อประกอบความให้เด่นชัดขึ้น ในกรณีที่หาถ้อยคำมาอธิบายให้เข้าใจ ได้ยาก เช่นเรื่องที่เป็นนามธรรมทั้งหลายการจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเด่นชัด ควรนำสิ่งที่มีตัวตน หรือสิ่งที่คิดว่าผู้อ่านเคยพบมาเปรียบเทียบ หรืออาจนำกิริยาอาการ ของสิ่งต่าง ๆ มาเปรียบเทียบก็ได้ เช่น เย็นเหมือนน้ำแข็ง ขาวเหมือนดั่งสำลี ไวเหมือนลิง บางทีอาจนำ ความรู้สึกที่สัมผัสได้ทางกายมาเปรียบเทียบเป็นความรู้สึกทางใจ เช่น ร้อนใจดังไฟเผา รักเหมือนแก้วตา เป็นต้น โวหารแบบนี้มักใช้แทรกอยู่ในโวหารแบบอื่น ตัวอย่างอุปมาโวหาร เช่น ความสวยเหมือนดอกไม้ เมื่อถึงเวลาจะร่วงโรยไปตามอายุขัย แต่ความดีเหมือนแผ่นดิน ตราบใดที่โลกดำรงอยู่ ผืนดินจะไม่มีวันสูญหายได้เลย ความดีจึงเป็นของคู่โลกและถาวร กว่าความสวย ควรหรือไม่ถ้าเราจะหันมาเทิดทูนความดีมากกว่าความสวย เราจะได้ทำ แต่สิ่งที่ถูกเสียที ๙.๔ แบบสาธก หรือสาธกโวหาร สาธกหมายถึง ยกตัวอย่างมาอ้างให้เห็น สาธกโวหาร จึงหมายถึงโวหารที่ยกตัวอย่างมาประกอบอ้าง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่อง ให้ชัดเจนขึ้น ตัวอย่างที่ยกมา อาจจะเป็นตัวอย่างบุคคล เหตุการณ์หรือนิทาน โวหาร แบบนี้มักแทรกอยู่ในโวหารแบบอื่น เช่นเดียวกับอุปมาโวหาร ตัวอย่างสาธกโวหาร เช่น
“... พึงสังเกตการบูชาในทางที่ผิดให้เกิดโทษ ดังต่อไปนี้ ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลามีเด็กวัยรุ่นเป็นลูกศิษย์อยู่หลายคน เรียนวิชาต่างกันตามแต่เขาถนัด มีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งชื่อ สัญชีวะอยู่ในหมู่นั้นเรียนเวทย์มนต์ เสกสัตว์ตายให้ฟื้นคืนชีพได้ ตามธรรมเนียมการเรียนเวทย์มนต์ต้องเรียนผูกและเรียนแก้ ไปด้วยกัน แต่เขาไม่ได้เรียนมนต์แก้” มาวันหนึ่ง สัญชีวะกับเพื่อนหลายคนพากันเข้าป่าหาฟืนตามเคย ได้พบเสือโคร่งตัวหนึ่งนอนตายอยู่ “นี่แน่ะเพื่อน เสือตาย” สัญชีวะเอ่ยขึ้น “ข้าจะเสกมนต์ให้เสือตัวนี้ฟื้นคืนชีพขึ้น คอยดูนะเพื่อน” “แน่เทียวหรือ” เพื่อนคนหนึ่งพูด “ลองปลุกมันให้คืนชีพลุกขึ้นดูซิ ถ้าเธอ สามารถ” แล้วเพื่อน ๆ อื่น ๆ ขึ้นต้นไม้คอยดู “แน่ซี่น่า” สัญชีวะยืนยัน แล้วเริ่มร่ายมนต์ เสกลงที่ร่างเสือ พอเจ้าเสือฟื้นลืมตาลุกขึ้นยืนรู้สึกหิว มองเห็นสัญชีวะพอเป็นอาหารแก้หิวได้ จึงสะบัดแยกเขี้ยว อวดสัญชีวะและคำรามวิ่งปราดเข้ากัดก้านคอสัญชีวะล้มตายลง เมื่ออาจารย์ได้ทราบข่าวก็สลดใจและอาลัยรักในลูกศิษย์มาก จึงเปล่งอุทานขึ้นว่า “นี่แหละ ผลของการยกย่องในทางที่ผิด ผู้ยกย่องคนเลวร้าย ยอมรับนับถือเขาในทางมิบังควร ต้องได้รับทุกข์ถึงตายเช่นนี้เอง” (จาก ฐะปะนีย์ นาครทรรพ การประพันธ์ ท. ๐๔๑ อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๑๙ หน้า ๙)
๙.๕ แบบเทศน์ หรือเทศนาโวหาร คือ โวหารที่อธิบายชี้แจงให้ผู้อ่านเชื่อถือ ตามโดยยกเหตุผล ข้อเท็จจริง อธิบายคุณโทษ แนะนำสั่งสอน ตัวอย่างเช่น
“คนคงแก่เรียนย่อมมีปรีชาญาณ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ฉลาดพูดและมีความรู้สึกสูง สำนึกในผิดชอบชั่วดี ไม่กล้าทำในสิ่งที่ผิดที่ชั่ว เพราะรู้สึกละอายขวยเขินแก่ใจและรู้สึก สะดุ้ง หวาดกลัว ต่อผลร้ายอันพึงจะได้รับ รู้สึกอิ่มใจในความถูกต้อง รู้สึกเสียใจในความผิดพลาด และรู้เท่าความถูกผิดนั้นว่า มิได้อยู่ที่ดวงดาวประจำตัว แต่อยู่ที่การกระทำของตัวเอง พึงทราบว่า ความฉลาดคิด ฉลาดทำ ฉลาดพูดและความรู้สึกสูง ทำให้คิดดีที่จริงและคิดจริง ที่ดี ทำดีที่จริงทำจริงที่ดี และพูดดีที่จริง พูดจริงที่ดี นี่คือวิธีจรรยาของคนแก่เรียน (จาก ฐะปะนีย์ นาครทรรพ การประพันธ์ ท. ๐๔๑ อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๑๙ หน้า ๘)
โวหารต่าง ๆ ดังกล่าวเมื่อใช้เขียนเรียงความเรื่องหนึ่ง ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เพียงโวหารใดโวหารหนึ่งเพียงโวหารเดียว การเขียนจะใช้หลาย ๆ แบบประกอบกันไป แล้วแต่ความเหมาะสมตามลักษณะเนื้อเรื่องที่เขียน การเขียนเรียงความเป็นศิลปะ หลักการต่าง ๆ ที่วางไว้ไม่ได้เป็นหลักตายตัวอย่าง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงเป็นเพียงแนวปฏิบัติและข้อเสนอแนะ ในการเขียน อาจพลิกแพลงได้ตามความเหมาะสมที่เห็นสมควร
|