westbank Article


14 คำสอนจาก โยฮัน ครัฟฟ์

                      

14 คำสอนจาก โยฮัน ครัฟฟ์

หนึ่งในคำถามที่ยิ่งใหญ่และน่าปวดหัวที่สุดในโลกฟุตบอลคือคำถามที่ว่า “ใครกันคือนักเตะที่เก่งที่สุด ระหว่าง ดีเอโก้ มาราโดน่า, เปเล่, ลิโอเนล เมสซี่ และ คริสเตียโน โรนัลโด้?” ทั้ง 4 ล้วนยอดเยี่ยมในแบบของตน คำถามนี้จะยังคงถูกยกมาพูดถึงอีกเป็นร้อยๆ ปีอย่างแน่นอน และทุกท่านคงมีนักเตะอันดับ 1 ของโลกคนโปรดในใจอยู่แล้ว แต่ถ้าหากถามว่า “ใครคือนักเตะ/บุคคลที่มีอิทธิพลต่อกีฬาฟุตบอลมากที่สุด?” ตัวผมเองคงต้องนกให้ โยฮัน ครัฟฟ์

และเพื่อเป็นการลำลึกถึงการจากไปของ ครัฟฟ์ ผมจึงขออนุญาตหยิบยก 14 คำพูดจากราชันไร้มงกุฎคนนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่คอยตั้งคำถามและเปลี่ยนมุมมองของผมต่อเกมฟุตบอล มาแบ่งปันกันในบทบาทความนี้


 

1. “ลูกบอลมีลูกเดียว เพราะฉะนั้นจงมีมัน”

เมื่อพูดถึงฟุตบอลสไตล์ดัตช์ เกมรุกที่รวดเร็ว และการต่อบอลที่สวยงาม คงเป็นสิ่งแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานของ โยฮัน ครัฟฟ์ ผู้หยิบแนวคิดโททัล ฟุตบอล (Totalfootball) ของ ไรนุส มิเชลส์ มาต่อยอดจนสมบูรณ์แบบ

พูดได้ว่า ไรนุส มิเชลส์ คือหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทในชีวิตฟุตบอลของ ครัฟฟ์ มากที่สุดคนนึงเลยทีเดียว โดยบิดาแห่งวงการฟุตบอลดัตช์เคยร่วมงานกับ ครัฟฟ์ ที่สโมสร อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และทีมชาติเนเธอร์แลนด์

มิเชลส์ ชื่นชอบในสไตล์การเล่นและวิสัยทัศน์ของ ครัฟฟ์ มากจนเคยเอ่ยปากว่า “หากไม่มี ครัฟฟ์ ก็ไม่มีทีม” (Without Cruyff, I have no team)

 

2. “หากเราใช้นักเตะ 4 คนเพื่อรับมือกับกองหน้า 2 คน นั้นหมายความว่าคุณเหลือนักเตะเพียง 6 คนเพื่อต่อกรกับ[ฝ่ายตรงข้าม] 8 คนกลางสนาม ไม่มีทางเลยที่คุณจะชนะศึกนี้”

การเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีม บาร์เซโลน่า ของ ครัฟฟ์ คือการแต่งตั้งบุคลากรที่ยอดเยี่ยมและสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรจากแคว้นกาตาลุญญาอย่างไม่ต้องสงสัย โดยพวกเขาเชื่อมั่นในการขึ้นบอลจากหลัง ครองบอลแต่ฝ่ายเดียว เข้าทำตามต้องการและปิดโอกาสที่คู่แข่งจะตอบโต้ได้

 

ทุกวันนี้แนวคิดดังกล่าว(ขึ้นบอลจากหลัง – เน้นครองบอล)ก็ยังคงเป็นกฏเหล็กที่บาร์ซ่ายึดมั่นอยู่ ยกตัวอย่างเช่น บาร์ซ่า ภายใต้ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ซึ่งเซ็ตเกมโดยการดันแบ็คซ้าย/ขวาขึ้นสูง สวนทางกับกลางรับที่ถอยลงมาเชื่อมบอลกับ 2 เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ เปลี่ยนรูปทรงจากแผงหลังหน้ากระดาน 4 คน ปะทะกองหน้าคู่แข่งเพียง 2 คน(หรือหลายๆ ครั้งเพียง 1 คนถ้าหากเจอกับทีมที่มาอุด) มาเป็นหลัง 3 (เอาแบ็คทั้ง 2 ข้างไปสร้างความได้เปรียบในแดนกลางแทน)

3. “การเล่นฟุตบอลคือเรื่องง่าย แต่การเล่นฟุตบอลง่ายๆ คือสิ่งที่ยากที่สุด”

ประโยคนี้น่าจะเป็นประโยคคำพูดจาก ครัฟฟ์ ที่มีผลต่อมุมมองฟุตบอลของผมที่สุด และเป็นคำพูดที่ผมใช้เตือนตัวเองเวลาเขียนวิจารณ์อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ประโยคดังกล่าวยังมอบรอยยิ้มให้ผมหลายต่อหลายครั้งเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเวลาไปชมฟุตบอลที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลนักเรียนหรือลีกอาชีพแล้วได้ยินผู้ชม/ผู้ปกครองบนว่า… “ทำไมไม่เล่นง่ายๆ ค่อยๆ จ่ายบอลทะลุช่องไปเหมือนบาร์ซ่าละ?” 

4. “คุณเล่นฟุตบอลด้วยหัว ขาเป็นแค่เพียงตัวช่วย”

หากวัดกันที่ความเร็วแต่เพียงอย่างเดียว คงหานักเตะที่เทียบชั้นกับ วัลคอตต์ ได้ยาก แต่แล้วทำไมเส้นทางนักฟุตบอลอาชิพของเขากลับหยุดนิ่งมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา? ในทางตรงกันข้ามทำไมผู้เล่นอย่าง ชาบี อลอนโซ่ หรือ อันเดรีย ปีร์โล่ ถึงยิ่งดูมหัศจรรย์ขึ้นตามวันเวลาละ?

5. “อะไรคือความเร็ว? สื่อมักสับสนระหว่างความเร็วและความฉลาด ถ้าผมออกตัวก่อน มันก็จะดูเหมือนว่าผมเร็วกว่า[คู่แข่ง]”

แน่นอนว่าความเร็วคือสิ่งสำคัญในกีฬาฟุตบอล แต่ในขณะเดียวความสามารถในการอ่านเกมก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน (ตัวอย่าง วัลคอตต์ ด้านบน) และทัศนคติเรื่องความเร็วของ ครัฟฟ์ ก็น่าจะเป็นผลของการที่เขาเองไม่ได้เป็นนักเตะที่สปีดเร็วจี๋อะไรมากมาย เพียงแต่เขาโชคดีที่ได้เล่นในระบบทีมที่ตอบสนองทักษะและความเข้าเกมของเขาภายใต้การดูแลของ ไรนุส มิเชลส์

6. “‘เทคนิค’ไม่ใช่การเดาะบอลได้ 1000 ครั้ง แค่ฝึกใครๆ ก็ทำได้ ‘เทคนิค’คือการจ่ายบอลจังหวะเดียว ด้วยสปีดที่ถูกต้อง ไปยังเท้าข้างถนัดของเพื่อนร่วมทีม”

นี่คือเหตุว่าทำไมนักเตะจอมลีลาอย่าง เคอร์ลอน เมาร่า ซูซ่า ถึงไม่ประสบความสำเร็จ

7. “ในทีมของผม ผู้รักษาประตูคือตัวรุกคนแรก และกองหน้าคือตัวรับคนแรก”

“ผมขอนิยามสิ่งที่นักเขียนเรียกว่า ‘โททอล ฟุตบอล’ เป็น ‘เพรสซิ่ง ฟุตบอล’ เพราะสำหรับผมแล้วคำคำนี้มันสื่อถึงรูปแบบของฟุตบอลซึ่งผมพยายามจะสร้างขึ้นที่อาแจ็กซ์กับทีมชาติ[ฮอลแลนด์]ชุดฟุตบอลโลก 1974 สิ่งที่ผมพยายามสร้างคือเกมที่ผู้เล่นเอาท์ฟิลด์ทั้ง 10 ไล่เพรสซิ่งสูงตลอดเวลา ถึงแม้เราจะไม่มีบอลก็ตาม” ไรนุส มิเชลส์ บิดาแห่งวงการฟุตบอลดัตช์ และอคีตกุนซือผู้ปลุกปั้น ครัฟฟ์ ในยุคอาแจ็กซ์

 

 

8. “สิ่งที่ลำบากที่สุดในเกม ‘ง่ายๆ’ คือการบีบให้คู่แข่งที่อ่อนกว่า เล่นแย่” 

ความท้าทายอย่างนึงของการคุมทีมใหญ่อย่าง บาร์เซโลน่า คือการที่ทีมที่เป็นรองมักจะมาตั้งรับสุดชีวิตจนหลายครั้งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ทีมใหญ่กว่าจะเจาะเข้าไปได้ นั้นก็เพราะเวลาได้บอล พวกทีมรองก็จะเรียนเคลียทิ้งทันที และคือแนวคิดที่มองการครองบอลเป็นศัตรูนี่เองที่โค้ชอย่าง มูรินโญ่ และ คาเปลโล่ ใช้ทำลายทีมของ ครัฟฟ์ และ กวาร์ดิโอล่า (ตัวอย่าง: อินเตอร์ มิลาน ปะทะ บาร์เซโลน่า, ปี 2010)

9. “เราต้องมั่นใจว่าคู่แข่งที่อ่อนที่สุด จะได้ครองบอลมากที่สุด [นี่จะช่วยให้]เราชิงบอลกลับมาได้ในพริบตา”

ครัฟฟ์ ได้รับอิทธิพลเกมเพรสซิ่งจาก มิเชลส์ อย่างชัดเจน และสไตล์ดังกล่าวก็ถูกส่งต่อมายัง แฟรง ไรกาจ และ กวาร์ดิโอล่า ส่งผลให้ บาร์ซ่า เป็นทีมที่ดูสนุกไม่ว่าจะมีบอลหรือไม่ก็ตาม

คอนเซปการล่อให้อีกฝ่ายจ่ายบอลไปยังจุดที่เราได้เปรียบนั้นถูกพัฒนาต่อยอดให้มีระบบมากขึ้น จนมีชื่อเรียกเป็นของตัวว่า “เพรสซิ่ง-แทรป (Pressing-trap)” หรือกับเพรสซิ่ง และพูดได้เต็มปากว่าปัจจุบันเพรสซิ่ง-แทรปได้กลายเป็นส่วนสำคัญของแทคติกฟุตบอลไปแล้ว (สเปอร์, ดอร์ทมุนด์ และ แอตเลติโก มาดริด คือตัวอย่างของทีมมีใช้เพรสซิ่ง-แทรปจนเกิดประโยชน์)

 

10. “ผมรับไม่ได้เมื่อ[นักเตะที่มีความสามารถ]ถูกปฏิเสธด้วยสถิติจากคอมพิวเตอร์ ผมเองก็คงถูกปฏิเสธหากเทียบจากเกณฑ์ความสามารถ(ในการคัดเด็ก)ของอาแจ็กซ์ ณ ปัจจุบัน ตอนผมอายุ 15 เท้าซ้ายผมยังเตะบอลได้ไม่ถึง 15 เมตรเลย เท้าขวาอาจจะสัก 20 [เมตร] คุณสมบัติด้านเทคนิคและวิสัยทัศน์ของผมนั้นวัดไม่ได้โดยคอมพิวเตอร์”

[ที่นี้]ให้โอกาสกับนักเตะตัวเล็กอย่างผมมากกว่าที่อื่น กวาร์ดิโอล่า ตัวผอมมากสมัยผมอยู่ที่ ลา มาเซีย แต่เป็น ครัฟฟ์ ที่บอกว่ายังไงเขา(เป็ป)ต้องได้เล่น เพราะสักวันร่างกายของ เป็ป ก็จะโตขึ้น หากไม่มี[ครัฟฟ์] โลกคงไม่มีนักเตะอย่าง ชาบี อิเนียสต้า และ ธิอาโก้ [อัลคันทาร่า] – โอริโอล โดเมนิค นักเขียนจาก มุนโด้ เดปอร์ติโว (Mundo Deportivo) ผู้ซึ่งเคยใช้เวลา 6 ปีที่ศูนย์ฝึก ลา มาเซีย ภายใต้ยุคของ โยฮัน ครัฟฟ์ 

โยฮัน ครัฟฟ์ และลูกชาย จอร์ดี้ ดรัฟฟ์

 

11. “สถิติพิสูจน์มาแล้วว่าในเกมฟุตบอล[1 เกม] ผู้เล่นแต่ละคนจะครองบอลโดยเฉลี่ย 3 นาที เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘คุณจะทำอะไรใน 87 นาทีที่คุณไม่มีบอล’ นี้คือสิ่งที่บ่งบอกว่าคุณ[เป็นผู้เล่นที่]เก่งหรือไม่” 

“นี้เป็นคอนเชฟพื้นฐาน: คุณเคลื่อนที่ดีขึ้นยามมีบอล คุณมีสิ่งที่คู่แข่งไม่มี ดังนั้นพวกเขาจึงทำสกอร์ไม่ได้ คนที่ขยับคือตัวกำหนดว่าบอลจะไปที่ไหน หากคุณเคลื่อนที่ดี คุณจะสามารถเปลี่ยนแรงกดดัน(การเพรสซิ่ง)ของคู่แข่งให้เป็นประโยชน์กับทีมได้” – โยฮัน ครัฟฟ์

12. “มันดีกว่าที่จะล้มเหลวด้วยแนวคิดของตัวเอง ไม่ใช่[ด้วยแนวคิด]ของคนอื่น“

หนึ่งในเสน่ของ ครัฟฟ์ คือความหัวดื้อของเขา แต่ทว่าบางทีก็มักโดนวิจารณ์ว่าทำงานด้วยลำบาก พอถูกถามถึงประเด็นนี้ ครัฟฟ์ ตอบกลับไปอย่างจริงใจว่า “ผมเกิดปี ’45 – โตมาในยุคหลังสงคราม คนวัยผมต่างต้องเริ่มอะไรใหม่ทั้งหมด – เช่น เดอะ บีเทิลส์ และคนอื่นๆ [เป็นต้น] ผมเป็นคนที่[หาความ]ท่าทายและทำอะไรใหม่ๆ เสมอ”

 

 

13. “หลังจากคุณชนะอะไรสักอย่าง คุณจะไม่อยู่ในสภาพ 100% อีกแล้ว ลดเหลือเพียง 90% เช่นเดียวกับขวดน้ำอัดลมซึ่งถูกเปิดออก หลังจากนั้น[น้ำขวดดังกล่าว]ก็จะเหลือแกสข้างในน้อยนิด”

“บาร์ซ่า คือทีมเต็งแชมป์ มิลาน ไม่ได้เก่งกาจมาจากไหน เกมรับคือรากฐาน[ฟุตบอล]ของพวกเขา ส่วนเราคือเกมรุก” ครฟฟ์ กล่าวก่อนเกมนัดชิง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 93/94

เกมจบลงด้วยชัยชนะ 4-0 ของ มิลาน

ลูกทีม ฟาบิโอ คาเปลโล่ สามารถเอาชนะ “ทีมเต็งแชมป์” อย่าง บาร์เซโลน่า ราบคาบด้วยประตูจาก ดานิเอเล่ มาสซาโร่ (2 ลูก), เดยัน ซาวิเซวิช และ มาร์กแซล เดอไซญี่

“ผมว่าเรามีความมั่นใจมากไปหลังจากคว้าแชมป์ลีกติดต่อกัน 4 ปีและถ้วยนี้ในปี 1992 เราคิดว่ามันจะง่าย ว่าเราสามารถเอาชนะได้ด้วยการเล่น 60 หรือ 70 เปอร์เซ็น” อัลเบิร์ต เฟอเรอร์ อดีตแบ๊คขวาของ บาร์เซโลน่า ให้สัมภาษณ์

ซิด โลว (Sid Lowe) จาก ดิ การ์เดี้ยน (The Guardian) เขียนในบทความ Barcelona v Milan revisited: The night in 1994 the Dream died ไว้ว่า… “ทีมทอล์คของ ครัฟฟ์ ที่เวมบลีย์ (รอบชิงปี 1992): ‘ออกไป และเล่นให้สนุก’ ทีมทอล์คที่เอเธนส์: ‘พวกคุณดีกว่าพวกเขา เราชนะแน่’ ในปี 1992 [ครัฟฟ์]ถูกยกให้เป็นอัจฉริยะ ปี 1994 เราถูกตราหน้าว่าเป็นคนโง่”

พูดได้ว่าความเก่งจนเกินไป บางครั้งก็กลายเป็นดาบสองคม และคงมีน้อยคนที่จะรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากการขาดแรงจูงใจไปมากกว่า โยฮัน ครัฟฟ์

“มันไม่ใช้ว่าเราเล่นไม่ดี” กุนซือชาวดัตช์กล่าวหลังเกม “แต่เราไม่ได้เล่นเลยต่างหาก”

 

14. “นักเตะที่ไม่ใช่ผู้นำอย่างแท้จริง แต่พยายามจะเป็น จะด่าเพื่อนร่วมทีมทุกทีที่ทำพลาด ผู้นำในสนามที่แท้จริงจะเข้าใจว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้”

“ผมไม่เคยกลัวที่จะทำพลาด และผมก็พยายามนำไอเดียนี้มาสู่สนาม[ในฐานะโค้ช] ผมพูดกับผู้เล่นเสมอว่าอย่าไปกลัว: ‘ถ้าคุณมีไอเดีย ดี: ลองดู และถ้ามันพลาดก็ไม่ต้องกังวล” โยฮัน ครัฟฟ์ พูดถึงความกล้าเล่นในสมัยเป็นนักเตะและความสำคัญของการให้อิสระกับผู้เล่นในยามเป็นโค้ช


 

 

ผมอาจจะเกิดมาไม่ทันเห็น โยฮัน ครัฟฟ์ ในฐานะผู้เล่น และก็เด็กไปที่จะได้ดู บาร์ซ่า ของเขา แต่การที่ปรัชญาของ ครัฟฟ์ มีผลกับมุมมองฟุตบอลของผมขนาดนี้น่าจะแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่ ครัฟฟ์ มีได้อย่างชัดเจน

“ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนนำอยู่ 2-0 หลังจากหมดครึ่งแรกในเกมที่ยังไม่สิ้นสุด และผมมั่นใจว่า[เกมนี้]จะจบลงโดยมีผมเป็นผู้ชนะ” โยฮัน ครัฟฟ์ กล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างเขากับโรคมะเร็ง



รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


westbank
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สุขศึกษาและพลศึกษา


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.031669 sec.