krusunsanee Article
การจับใจความสำคัญ 1
การจับใจความสำคัญ
ใจความสำคัญ (Main ideas) หมายถึง ข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่น ๆ ในย่อหน้าหรือเรื่องนั้นทั้งหมด ถ้าข้อความที่อ่านเป็นเรื่องราวยาวๆ จะต้องสรุปใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านในลักษณะย่อความ และจับใจความสำคัญให้ได้ว่า เรื่องนั้นมีใครทำ อะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และการกระทำนั้นเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง ในแต่ละย่อหน้าจะมีประโยคใจความสำคัญเพียงประโยคเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน ๒ ประโยค ใจความสำคัญอาจเป็นประโยคต้น ประโยคกลาง หรือประโยคท้ายย่อหน้าก็ได้
พลความหรือส่วนขยายใจความ (Details) หมายถึง ประโยคที่ช่วยขยายเนื้อความของใจความสำคัญเพื่อสนับสนุนหรือแสดงตัวอย่าง เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งใน แต่ละย่อหน้าอาจมีพลความอยู่หลาย ๆ ประโยคได้
การอ่านจับใจความสำคัญของเรื่องใดเรื่องหนึ่งควรเริ่มจากการอ่านจับใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้าให้ถูก ถ้าเรื่องไหนมีหลายย่อหน้าแสดงว่ามีหลายใจความสำคัญ เมื่อนำประเด็นสำคัญในแต่ละย่อหน้ามาพิจารณารวมกันแล้วจะทำให้จับแก่นเรื่องได้ง่าย
วิธีสังเกตและพิจารณาหาใจความสำคัญ
1. พิจารณาความทีละย่อหน้า เพื่อหาประโยคใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า ดังนี้
1.1. ประโยคต้นย่อหน้า เป็นจุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องมากที่สุด เพราะส่วนมากผู้เขียน จะบอกประเด็น สำคัญแล้วค่อยขยายความ
ตัวอย่าง
“ ความ สมบูรณ์ของชีวิตมาจากความเข้าใจชีวิตพื้นฐาน คือเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจความเป็นมนุษย์ และความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ มีความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติอย่างจริงใจ”
ใจความสำคัญ ความ สมบูรณ์ของชีวิตมาจากความเข้าใจชีวิตพื้นฐาน
1.2. ประโยคตอนท้ายย่อหน้า เป็นจุดที่พบใจความสำคัญรองลงมาจากประโยคต้นย่อหน้า โดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดย่อๆ มาก่อนแล้วสรุปให้ในตอนท้าย
ตัวอย่าง
“ ความ เครียดทำให้เพิ่มฮอร์โมนอะดรีนาลีนในเลือด ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เส้นเลือดบีบตัวกล้ามเนื้อเขม็งดึง ระบบย่อยอาหารผิดปกติเกิดอาการปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น แข้งขาอ่อนแรง ความเครียดจึงเป็นตัวการให้แก่เร็ว”
ใจความสำคัญ ความเครียดทำให้แก่เร็ว
1.3. ประโยคกลางย่อหน้า เป็นจุดที่ค้นหาใจความสำคัญได้ยากที่สุด เพราะจะต้องเปรียบเทียบสาระที่สำคัญที่สุดว่าอยู่ที่ประโยคไหน
ตัวอย่าง
“โดย ทั่วไปผักที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่เกษตรกรมักใช้สารกำจัดศัตรูพืช หากไม่มีความรอบคอบในการใช้จะทำให้เกิดสารตกค้าง ทำให้มีปัญหาต่อสุขภาพฉะนั้นเมื่อซื้อผักไปรับประทานจึงควรล้างผักด้วยน้ำ หลายๆ ครั้ง เพราะจะช่วยกำจัดสารตกค้างไปได้บ้าง บางคนอาจแช่ผักโดยใช้น้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตก็ได้ แต่อาจทำให้วิตามินลดลง”
ใจความสำคัญ เมื่อซื้อผักไปรับประทานจึงควรล้างผักด้วยน้ำหลายๆ ครั้ง
1.4. ไม่ปรากฏชัดเจนที่ใดที่หนึ่ง ในข้อนี้เราต้องอ่านโดยรวมแล้วสรุปเนื้อหาทั้งหมดเพื่อให้ได้ใจความสำคัญ
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 1.12 MBs
Upload : 2013-05-09 15:49:00
ติชม
กำลังแสดงหน้า
1/0
<<
1
>>
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :
krusunsanee
สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ภาษาไทย
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com
Generated 0.028811 sec.