kruuan |
|
|
|
|
ความรู้เพิ่มเติม
ความรู้ประกอบ วรรณคดี เรื่อง ราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา ๑. พงศาวดาร คำว่า พงศาวดาร เป็นคำที่มาจากภาษา สันสกฤต มีความหมายถึงเอกสารที่บันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศชาติ หรือของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น ผู้ที่จดบันทึกพงศาวดารจะบันทึกวัน เวลา สถานที่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามมุมมองหรือความเข้าใจของตนเอง ซึ่งในบางกรณีอาจสอดแทรกความคิดเห็นหรือจินตนาการตามประสบการณ์ของตนเองเสริมเข้าไปอีกด้วย ดังนั้นพงศาวดารที่บันทึกเหตุการณ์เดียวกัน แต่เขียนโดยผู้เขียนต่างกัน ก็อาจมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ฐานะของพงศาวดารในการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ จึงมีลักษณะเป็นหลักฐานชั้นรองที่สามารถใช้อ้างอิงได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังจะต้องหาข้อมูลอื่นๆ ประกอบเพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงอีกด้วย สำหรับในประเทศไทย มีพงศาวดารหลายฉบับที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของไทย เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ หนังสือประชุมพงศาวดารของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรเป็นผู้จัดพิมพ์ เป็นต้น ๒. มอญ หรือ รามัญ มอญเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่เก่าแก่ชนชาติหนึ่งในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ สันนิษฐานว่าอพยพมาจากบริเวณเอเชียกลาง และมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศสหภาพพม่า คำว่า “มอญ” นั้นเพี้ยนมาจาก “รามัญ” หรือ Rmen อันเป็นคำที่คนมอญใช้เรียกตนเอง นอกจากนี้ พม่ายังเรียกมอญว่า “ตะเลง” หรือ Talaings อีกด้วย สันนิษฐานว่า คำว่า “ตะเลง” นี้ น่าจะเพี้ยนมาจากชื่อแคว้น Talingana ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย ตามประวัติศาสตร์ของมอญ ผู้สร้างอาณาจักรมอญโบราณเป็นเจ้าชาย ๒ พระองค์จากอินเดีย ที่ได้เสด็จมาทางเรือและขึ้นที่อ่าวเมาะตะมะ ทรงสถาปนาอาณาจักร “สุธรรมวดี” หรือ “สะเทิม” ขึ้น และแผ่ขยายอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป อาณาจักรแห่งนี้มีความเจริญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีทำเลที่เป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ มีการติดต่อด้านเศรษฐกิจกับอินเดีย กระทั่งสามารถคิดค้นระบบชลประทานในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดีได้ ภายหลังเมื่อชนชาติพม่าทำสงครามเพื่อขยายอิทธิพล มอญจึงถอยร่นลงมาและตั้งเมืองหลวงใหม่คือ “หงสาวดี” ขึ้นในปี พ.ศ. ๑๓๖๘ และเมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าอนิรุทธ์ หรือ พระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ. ๑๕๘๗-พ.ศ. ๑๖๒๐) ปฐมกษัตริย์พม่า แห่งราชวงศ์พุกาม ได้ทรงยกทัพมาตี และผนวกดินแดนของมอญทั้งหมดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพุกาม หงสาวดีจึงอยู่ใต้อำนาจของพุกามหรือพม่ามานับแต่นั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมอญมีความเจริญด้านพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าอนิรุทธ์จึงได้รับและนำวัฒนธรรมมอญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง พุทธศาสนาเข้ามาใช้ เช่น การใช้อัญเชิญพระไตรปิฎกภาษามอญมายังพุกาม การใช้ภาษามอญ ในการจารึกเอกสารต่างๆ และการรับพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาปฏิบัติ เป็นต้น แม้ว่ามอญจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า แต่ก็กลับมามีอิสรภาพอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๑๘๓๐ ในสมัยของ “พระเจ้าฟ้ารั่ว” หรือ “วาเรรุ” ผู้เป็นพระชามาดาของพ่อขุนรามคำแหง ทรงขับไล่อิทธิพลของพม่าให้พ้นจากเมืองเมาะตะมะ และสถาปนาราชวงศ์ชาน-ตะเลง ขึ้น ณ เมืองนี้ อันเป็นเมืองหลวงแห่งแรก ภายหลังในปี พ.ศ. ๑๙๑๒ จึงย้ายเมืองหลวงกลับไปยังกรุงหงสาวดีเช่นเดิม อาณาจักรมอญมีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเจ้าราชาธิราช สืบต่อมาถึงพระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๓๕) มอญมีความเจริญอย่างมาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญบริเวณอ่าวเบงกอล แต่ภายหลังก็กลับเสียเอกราชให้แก่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งพม่า ในปี พ.ศ. ๒๐๙๔ ซึ่งแม้ต่อมาจะมีการกอบกู้อาณาจักรมอญอีกหลายครั้ง แต่ก็ต้องแพ้พม่า ทำให้คนมอญต้องอพยพหนีภัยสงครามที่เกิดขึ้นโดยตลอด ปัจจุบันมอญยังคงเป็นชนชาติหนึ่งที่ไม่มีประเทศเป็นของตนเอง แต่ได้กระจัดกระจายไปยังบริเวณต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานของมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์ไทยถึง ๙ ครั้ง ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กลุ่มคนมอญที่เมืองเมาะตะมะถูกพม่าปราบปรามเนื่องจากก่อกบฎ จึงได้อพยพเข้ามายังสยามกว่า ๔๐,๐๐๐ คน และได้รับพระมหา-กรุณาธิคุณให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสามโคก (จังหวัดปทุมธานี) เกาะเกร็ด (ในจังหวัดนนทบุรี) และ พระประแดง (ในจังหวัดสมุทรปราการ) กล่าวโดยสรุป คนมอญได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไป บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำในภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี ลพบุรี ราชบุรี อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก อ่างทอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ผู้ที่สืบเชื่อสายมอญในจังหวัดเหล่านี้ บางแห่งยังคงสืบทอดขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของบรรพชนมอญอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ภาษามอญ การสร้างเสาหงส์และธงตะขาบ อันเป็นการประกอบพิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา เป็นต้น ๓. พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง หรือพระเจ้ามณเทียรทอง กษัตริย์แห่งกรุงอังวะของพม่า ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า มังสุเหนียด เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงเป็นกษัตริย์ที่ทำสงครามกับมอญอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดพระองค์หนึ่ง การสงครามกับมอญนี้ ทำให้ทรงสูญเสียพระราชโอรสคือ มังรายกะยอฉวา ซึ่งในพงศาวดารกล่าวว่า ในชาติก่อน มังรายกะ- ยอฉวา คือ “พ่อลาวแก่นท้าว” พระราชโอรสของพระเจ้าราชาธิราชกับตะละแม่ท้าว ทรงถูกพระราชบิดาประหารเนื่องจากมีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง ก่อนที่จะทรงถูกประหารได้อธิษฐานต่อพระธาตุมุเตาให้ได้เกิดเป็นเจ้าชายแห่งอังวะ เพื่อให้ได้กลับมาแก้แค้นพระราชบิดาและหงสาวดี เมื่อมาประสูติเป็น มังรายกะยอฉวาแล้ว ทรงมีพระนิสัยชอบในการสงคราม ได้ทรงทำศึกกับมอญหลายครั้ง แม้จะมิได้รับ ชัยชนะ แต่พระองค์ก็สามารถควบคุมตัวแม่ทัพและทหารมอญคนสำคัญไว้ได้หลายคน เช่น สมิงนครอินทร์ สมิงพระราม เป็นต้น ภายหลังสมิงพระรามที่ถูกคุมขังอยู่ ณ เมืองอังวะ จึงได้รับอาสาที่จะสู้กับกามะนี ทหารของกรุงจีน เพื่อตัดกำลังของพระเจ้ากรุงต้าฉิง ที่อาจจะยกกองทัพไปตีหงสาวดีได้ เหตุการณ์ตอนนี้เป็นที่มาของตอนสมิงพระรามอาสา ที่นักเรียนศึกษา อนึ่ง คำว่า “มังฆ้อง” ในพระนามนั้น เปลื้อง ณ นคร ผู้รู้ทางวรรณคดีไทย ให้อธิบายความหมายไว้ว่า คำว่า ฝรั่ง เพี้ยนจากภาษามอญว่า บุเรง ที่แปลว่า ราชา และ มังฆ้อง คือ มังของ เป็นชื่อเจ้าแผ่นดินมอญ ๔. สมิง คำนี้ปรากฏเป็นชื่อของทหารฝ่ายมอญในวรรณคดีเรื่องราชาธิราช เช่น สมิงพระราม สมิงอุบากอง สมิงพ่อเพชร กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ได้กล่าวถึงความหมายของคำนี้ไว้สรุป ได้ว่า มีใช้อยู่ ๒ ความหมาย กล่าวคือ ความหมายแรกหมายถึง คำนำหน้าขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายมอญ มีความหมายแปลว่า เจ้า คือ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าเมืองหรือผู้ปกครอง อีกความหมายถึง หมายถึงคนมีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์ มีความรู้ทางเวทมนตร์แก่กล้ามากจนกลายเป็นเสือ และกลายร่างเป็นคนได้ นอกจากนี้ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิตอีกท่านหนึ่ง ยังได้อธิบายไว้ว่า คำว่า สมิง มักใช้นำหน้าชื่อผู้ที่ครองเมือง โดยอาจเป็นการตั้งตนเองหรือได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองเมืองก็ได้ เช่น ในกรณีของสมิงนครอินท์ เดิมชื่อว่า มะสามลุม (ไทยเรียก มะสะลุม) เมื่อได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลให้ไปกินเมืองตักคลา ได้ชื่อว่า สมิงละกนอิน ซึ่งจำนงค์ เห็นว่า ควรเรียกเป็นสมิงตักคลา ตามชื่อเมืองที่ไปครองมากกว่า ๕. สงสารภพ พระมเหสีของพระเจ้ามณเฑียรทองทรงกล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อแสดงเหตุผลในการที่จะโน้มน้าวใจสมิงพระรามด้วยการใช้พระราชธิดาว่า มนุษย์ที่ยังคงวนเวียนอยู่ใน สงสารภพ ล้วนแต่ติดใจในรสแห่งกามตัณหาทั้งสิ้น สำหรับคำว่า “สงสาร” นี้ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ว่า หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นวงจรของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พุทธศาสนิกชนเชื่อว่า การเวียนวายตายเกิดนั้นมีที่มาจากกรรมหรือการกระทำของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดจากการกระทำที่มาจากกามกิเลส ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง เพราะเกิดความอยาก ความใคร่และความรัก บุคคลใดก็ตามที่ประกอบกรรมโดยมีกามกิเลสเป็นพื้น จึงต้องได้รับผลแห่งการกระทำคือความเสื่อม ซึ่งทำให้เมื่อตายจะต้องไปเกิดไปในภพภูมิที่ต่ำลง เป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่เรื่อยไป ในวรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ที่แต่งโดยพญาลิไทย ในสมัยสุโขทัย ได้กล่าวถึงการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์ไว้ว่า มนุษย์นั้นแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ อันธปุถุชนและกัลยาณปุถุชน อันธปุถุชน คือ ผู้ประกอบกรรมชั่ว เมื่อตายแล้วจะไปเกิดในอบายภูมิ อันเป็นภูมิต่ำ ได้แก่ คือ เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นอสุรกาย ส่วนกัลยาณปุถุชนนั้น คือ ผู้ประกอบกรรมดี มีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อตายแล้วย่อมไปเกิดบนสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น หรืออาจเกิดในสวรรค์ชั้นพรหมในระดับต้นก็ได้ และเมื่อไปเกิดในภพภูมิใหม่แล้ว ได้ประกอบกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ผลแห่งกรรมนั้นก็จะนำให้ไปเกิดในภพใหม่ได้อีก กล่าวให้ชัดเจนขึ้นคือ มนุษย์ที่ประกอบกรรมดี เมื่อสิ้นบุญอาจได้ไปเกิดเป็นเทวดา แต่หากเป็นเทวดาที่ทำไม่ดีหรือสร้างกรรมชั่ว ก็อาจต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่หากเป็นสัตว์ที่ได้ประพฤติกรรม ก็อาจนำให้ไปเกิดเป็นเทวดาอีกก็ได้ เหล่าสัตว์ทั้งหลายจึงมีต้องมีกำเนิดวนเวียนอยู่เช่นนี้ จนกว่าจะปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าสู่พระนิพพาน จึงจะหลุดพ้นจากวงจรแห่งทุกข์นี้ |
|
|
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล 70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170 โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com
|
Generated 0.005730 sec. |
|
|
|
|
|